เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 3. จูฬมาลุกยสูตร

เหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเชิงปรัชญา

[128] มาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำปัญหาที่เราไม่ตอบว่า
เป็นปัญหาที่เราไม่ตอบ และจงจำปัญหาที่เราตอบว่า เป็นปัญหาที่เราตอบเถิด
ปัญหาอะไรเล่าที่เราไม่ตอบ
คือ ปัญหาว่า ‘โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระ
เป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก
หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ เราไม่ตอบ
เพราะเหตุไรเราจึงไม่ตอบ
เพราะปัญหานั้นไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
และเพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่ตอบ
ปัญหาอะไรเล่าที่เราตอบ
คือ ปัญหาว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
เราตอบ
เพราะเหตุไรเราจึงตอบ
เพราะปัญหานั้นมีประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อ
นิพพาน เหตุนั้นเราจึงตอบ
มาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำปัญหาที่เราไม่ตอบว่า เป็นปัญหาที่
เราไม่ตอบ และจงจำปัญหาที่เราตอบว่า เป็นปัญหาที่เราตอบเถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬมาลุงกยสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 4. มหามาลุงกยสูตร

4. มหามาลุงกยสูตร
ว่าด้วยพระมาลุงกยบุตร สูตรใหญ่
โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ

[129] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์1
(สังโยชน์เบื้องต่ำ) 5 ประการที่เราแสดงแล้ว ได้หรือไม่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ
ที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วได้”
“เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ ที่เราแสดงไว้แล้ว อย่างไร”
“ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือสักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัว
ของตน) ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วได้
ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้แล้วได้
ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือสีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต)
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วได้
ข้าพระองค์จำโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือกามฉันทะ(ความพอใจในกาม) ที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้แล้วได้